ปางช้างแม่แตง โต้เอ็นจีโอโจมตีทรมานสัตว์ปมหลังช้างผิดรูป
ดร.บุญทาชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง พร้อม สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง ได้แถลงข่าวชี้แจง กรณีมูลนิธิแห่งหนึ่ง อ้างมีช้างเจ็บป่วยจากการทำงานหนักในธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ที่ปางช้างแม่แตง หมู่2 ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
โดยดร.บุญทาชัยเลิศได้กล่าวว่า รู้สึกตกใจ ที่ข่าวดังกล่าวที่ระบุว่า มีการใส่แหย่งที่นั่งบนหลังช้าง บริการนักท่องเที่ยวครั้งละ 6 คน มาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนทำให้กระดูกสันหลังของช้างหักดูผิดรูปไปอย่างน่าสงสาร แต่ก็ไม่ได้ประหลาดใจมากนัก เพราะมักมีมูลนิธิที่ชอบกล่าวอ้างอนุรักษ์ออกมาโจมตีการท่องเที่ยวช้างไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงวันช้างไทย 13 มีนาคมของทุกปี เพื่อทำลายวงการท่องเที่ยวช้างไทย โดยได้ทำการบิดเบือน ใส่ร้าย มาโดยตลอดว่าทารุณกรรมทรมานสัตว์ ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบทอดนับพันปีแล้ว
จากกระแสดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมมูลนิธิที่ออกมาโจมตี ทำไมมีแต่คนต่างชาติที่บ้านเมืองเขาไม่เคยมีช้างเลย แต่ทำธุรกิจแฝงในนามนักอนุรักษ์สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้เข้าไปดูในเว็บไซต์ เห็นแต่เปิดรับบริจาค เป็นที่น่าสงสัยว่ากลไกในการทำงานของเขา คือการสร้างข่าวช้างให้ดูน่าสงสาร เพื่อหวังเงินบริจาคหรือไม่ คล้ายกับมูลนิธิบางแห่งที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ด้วยการหาเงินจากความสงสารของผู้คนที่จิตใจอ่อนไหว จนลืมนึกถึงความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริงไป ซึ่งปางช้างแม่แตง มีแต่ช้างอ้วนหรือน้ำหนักเกิน จนสัตวแพทย์ ต้องสั่งลดความอ้วน เพื่อสุขภาพช้างเอง
ด้านสพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง กล่าวว่า รู้สึก แปลกใจเช่นกัน จากประสบการณ์ที่ทำงานเป็นสัตวแพทย์ด้านช้างมาเกือบสิบปี ไม่เคยพบกรณีช้างเจ็บป่วยแบบนี้เลย เพราะลักษณะทางกายภาพของช้าง เป็นสัตว์บกที่มีร่างกายใหญ่โต แข็งแรงที่สุดในโลกแล้ว มีงานวิจัยออกมารองรับว่าช้างสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว โดยปกติช้างโตเต็มวัย มีน้ำหนักเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม ซึ่งช้างสามารถแบกรับน้ำหนักได้ถึง 450 กิโลกรัมหรือรับนักท่องเที่ยว ครั้งละ ไม่เกิน 2 คน รวมน้ำหนักควาญช้าง และแหย่งนั่ง แล้วไม่เกิน 300-400 กิโลกรัม และยังจำกัดเวลาทำงาน
เชือกละ 6-8 รอบ/วันเท่านั้น
“ปางช้างแม่แตง ได้ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพของช้างอย่างมาก ดูแลช้างให้อยู่ดีกินดีมีสุขภาพที่ดี คือภารกิจหลักของเรา มีสัตวแพทย์ และผู้ช่วยคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ปัญหาสุขภาพช้าง โดยปกติจะเป็นเรื่องระบบทางเดินอาหาร เช่น กินมากเกินไปทำให้ท้องอืด ท้องเสียบ้าง ส่วนการเจ็บป่วยจากการทำงานหนักจนพิกลพิการนั้น ไม่เคยเจอมาก่อน” สพ.ญ.พนิดา กล่าว
ต่อมานายบุญทา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่าธุรกิจปางช้างในเชียงใหม่ เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ มีนักท่องเที่ยวใช้บริการ 60-70 % เฉพาะปางช้างแม่แตง มีนักท่องเที่ยววันละ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ 70% คนไทย 30 % ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนมากเป็นชาวจีน ไต้หวัน เกาหลี เวียดนาม และยุโรป แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกเดือน
ส่วนผลกระทบจากไฟป่า หมอกควัน ฝุ่นPM 2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานมากว่า 1 สัปดาห์ ก็ทำให้ได้รับผลกระทบแต่ช่วง 1-2 วันมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง สภาพอากาศดีขึ้น ไม่ส่งผลกระทบท่องเที่ยวมากนัด หากมีฝนตกอีกหลายวัน เชื่อว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
“ปีนี้วันช้างไทย ได้จัดขันโตกบุฟเฟต์ผลไม้เลี้ยงช้างกว่า 70 เชือก เพื่อเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยว และเรียนรู้วิถีชีวิตช้างไทย กับภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมศึกษาวัฒนธรรมประเพณีชุมชน โดยนั่งช้าง นั่งเกวียนและล่องแพชมวิถีชีวิตชุมชนสองฝั่งท่ามกลางฝนตกโปรยปรายตลอดวันด้วย” ดร.บุญทา กล่าว
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ fiji-backpacking.com